ผลของอุบัติเหตุกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

Photo by jcomp / Freepik

จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2550 ในกลุ่มประชาชนคนไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวน 51.2 ล้านคน พบว่า มีผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 14.9 ล้านคน ขณะที่ในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี พบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 6 แสนกว่าคน หรือประมาณร้อยละ 13 ของผู้ดื่มเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ ทั้งหมด ซึ่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วเกี่ยวกับผลเสียที่เกิดขึ้นตามมาจากการดื่มสุรามีหลายอย่าง โดยเฉพาะเกี่ยวกับระบบสมอง และอุบัติเหตุ

จากสถิติของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พบว่าในช่วงวันหยุดสิ้นปี ของปี 2555 เกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ คิดเป็น ร้อยละ 37.28 และปี 2556 คิดเป็น ร้อยละ 38.73 ส่วนในช่วงเทศกาลสงกรานต์มีอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ ข้อมูล ปี 2555 ร้อยละ 39.21 และข้อมูลปี 2556 ร้อยละ 39.11 ซึ่ง สอดคล้องกับผลการศึกษาเรื่องข้อมูลการดื่มแอลกอฮอล์กับการบาดเจ็บในช่วงเทศกาลวันหยุด พบว่า จำนวนผู้บาดเจ็บที่ดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเทศกาลถึง 3.1 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงปกติ

ประเทศไทยต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลจากการเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มสุรานับไม่ถ้วน จากรายงานผลการศึกษาทางการแพทย์ทำให้คาดคะเนได้ว่า มีคนพิการปีละมากกว่า 4 พันคนเนื่องจากอุบัติเหตุจราจรในแต่ละปี (ศูนย์ข้อมูล/หน่วยจัดการความรู้เพื่อถนนปลอดภัย, 2547)

ซึ่งเป็นที่น่าตกใจว่าปัจจุบันวัยรุ่นไทยนิยมดื่มสุรามากขึ้น ซึ่งถ้ามองในเรื่องกำลังสมองที่จะพัฒนาชาติบ้านเมืองต่อไปในภายภาคหน้านั้น อาจจะลดน้อยลงได้จากความเสี่ยงดังกล่าว ดังนั้นควรมีการสร้างแนวทางการแก้ปัญหาตลอดจนให้ดูแลคนกลุ่มนี้เพื่อให้ทราบผลเสียจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และให้ทราบถึงบทลงโทษเกี่ยวกับการดื่ม กรณีที่เกิดอุบัติเหตุและทำให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียชีวิตตลอดจนกรณีที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ต่อไป